วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

ภาษาจีนกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)


เมื่อถึงยุคการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2558 นั้น ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ อันได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม  การเตรียมความพร้อมในเรื่องภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร คงต้องมีมากขึ้น คาดว่าสภาพการณ์เมื่อรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีการแข่งขันสูงขึ้น สภาพสังคมจะมีวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ความพร้อมในเรื่องภาษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรคำนึงถึงเพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ Ethnologue 16th edition ในปี 2009 คือ มีจำนวนประชากรที่พูดภาษาจีนกลาง ถึง 1,213 ล้านคน รองลงมาเป็น สเปน มีประมาณ 329 ล้านคน และภาษาอังกฤษ ประมาณ 328 ล้านคน ในขณะที่ UNESCO ระบุว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีคนผู้มากที่สุด รองลงมาคือ ภาษาอังกฤษ และ สเปน ตามลำดับ ภาษาสำคัญที่ถูกกำหนดให้ใช้ในองค์การสหประชาชาติ คือ ภาษาจีนกลาง อังกฤษ สเปน อาหรับ รัสเซีย และฝรั่งเศส จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาษาจีนเป็นภาษาสำคัญภาษาหนึ่งที่มีคนพูดมากที่สุดในโลกและได้รับการยอมรับให้ใช้ในองค์การสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นภาษาที่ทั่วโลกใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในโลกปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามกฎบัตรอาเซียน ข้อที่ 34 ได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำงานของอาเซียน ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาสำคัญเมื่อประเทศเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะไม่ว่าคนของแต่ละประเทศจะพูดภาษาอะไรเป็นภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติอะไรก็ตาม เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษาจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและหลายประเทศหันมาสนใจศึกษามากขึ้น จากข้อมูลของ Internet World Stats ระบุว่า ในปี 2011 คนใช้ภาษาจีนบนอินเตอร์เน็ต มากถึง 510 ล้านคน เป็นรองแค่เว็บไซต์ของคนใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีมากกว่า 565 ล้านคน ตัวเลขรวมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ใช้ภาษาจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยอัตราเกือบ 15 เท่า ภายใน 11 ปี [1]ดังนั้นนอกจากให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษแล้ว ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับภาษาจีนซึ่งในหลายประเทศได้กำหนดให้ภาษาจีนกลายเป็นหนึ่งในวิชาบังคับที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียน เช่น ปากีสถาน สวีเดน หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา จำนวนโรงเรียนทั้งรัฐบาลและเอกชนที่เปิดสอนภาษาจีนเพิ่มขึ้นจาก 300 แห่ง เป็น 1,600 แห่ง ภายในเวลา 10 ปี สำหรับประเทศไทยแล้วการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้รับการสนับสนุนให้เป็นหนึ่งในวิชาบังคับที่มีสอนในโรงเรียนรัฐและเอกชนมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของไทยก็ยังคงเป็นเรื่องการที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในเวทีต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษทางธุรกิจ การค้า การบริการ การท่องเที่ยว การแพทย์ และอื่นๆ ซึ่งถือว่ายังต้องพัฒนาอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่น สิงคโปร์  มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ มองย้อนกลับมาที่พัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่องที่แตกต่างกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิงในห้าทศวรรษที่ผ่านมา การส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในไทยที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ในการกลับกันการเรียนการสอนภาษาจีนเพิ่งได้รับการสนับสนุนเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวข้องกับการปกครองในอดีตที่สองประเทศยึดระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่จีนปกครองแบบสังคมนิยม ที่เรามักเรียกว่า จีนคอมมิวนิสต์ใน 50 ปีที่แล้ว การที่จีนปกครองแบบคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้ และตัดสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศต่อกัน แม้ทั่งโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีน ยังถูกควบคุม บางแห่งต้องหยุดสอน บางแห่งต้องแอบสอนตอนกลางคืน จนเกิดสำนวนเรียบร้อยโรงเรียนจีนเกิดขึ้น ผลกระทบนี้เห็นชัดเจนในเมืองหลวง เช่น กรุงเทพและปริมณฑล หากพิจารณาการเรียนการสอนภาษาจีนที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพใน 50 ปีที่ผ่านมา เมืองที่ห่างไกลการปกครองของรัฐในขณะนั้น จะเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนต่อเนื่อง และมีคุณภาพมากกว่าในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนแสงทอง ที่หาดใหญ่ เป็นต้น เรื่องราวและประวัติการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมีมายาวนาน ตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  จากข้อความตอนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยว่า ภาษาจีนไม่เคยมีบทบาทคุณค่าในฐานะของศาสตร์ศิลป์ภาษาที่บริสุทธิ์ หากการกำหนดบทบาทคุณค่านี้ เสมือนการเริ่มต้น ก็กล่าวได้ว่า การเริ่มต้นที่ดี (ย่อมสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง) ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ดังนั้น ก้าวขั้นต่อๆไปของการเรียนการสอน จึงมิได้ยืนอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ดี ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาด้านนี้[2] พัฒนาการการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยเป็นเรื่องยาวนานและน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นว่าเหตุใด ภาษาจีนจึงมีคนไทยอ่านออก เขียนได้ น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ทั้งๆที่ภาษาไทยกับภาษาจีนมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นโอกาสที่คนไทยจะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนก็มีมากกว่าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาและวัฒนธรรมตะวันตกที่เราไม่คุ้นเคยและไกลตัว  อาทิเช่น ในประเด็นของไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ แตกต่างจากไทยมาก โดยเฉพาะเรื่องกาล คือ มี Tense  กริยาของประโยคต้องเปลี่ยนไปตามกาล คือ มีปัจจุบัน อดีต และ อนาคต ในขณะที่ภาษาจีนไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่กริยาของประโยค ไม่ว่าคุณจะกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อไรก็ตาม และภาษาจีนยังเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาไทย อย่างไรก็ดีภาษาจีนมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญมากขึ้น ทั่วโลกเปิดรับการใช้ภาษาจีนมากขึ้น อาเซียนก็เช่นเดียวกัน การเตรียมความพร้อมให้ประชากรในประเทศ หรือกลุ่มประเทศในอาเซียน มีทักษะที่พร้อมใช้ภาษาจีนทันทีที่เศรษฐกิจของจีนนำหน้ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด  น่าจะเป็นประเด็นที่นำมางบคิดว่า ภาษาอังกฤษ จะเป็นเพียง ภาษาเดียวที่ใช้ในการสื่อสารของอาเซียนหรือ ? จะเป็นภาษาจีนได้ไหม เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของภาษาและวัฒนธรรมตะวันออก?


[1] จิราวดี รัตนไพฑูรย์ชัยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
[2]*รวบรวมเก็บความจากประวัติการเรียนการสอนภาษจีนในประเทศไทยโดยสังเขปรายงานการสอนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยระดับประถม มัธยมศึกษา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กันยายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น