วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นายกรัฐมนตรีไทยกับการประชุมเอเปก (APEC) ที่ปักกิ่ง


ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/ 
.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีระดับโลกอีกครั้ง ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (APEC) ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน บิ๊กตู่ออกเดินทางเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางโดยเครื่องบินแอร์บัส 310 ของกองทัพอากาศ ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์และภริยา พร้อม คณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง โดยมีทางการจีนจัดพิธีต้อนรับที่ลานจอดเครื่องบิน จากนั้นเวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีร่วมกับหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มหาศาลาประชาชน ก่อนจะไปพบปะนักธุรกิจไทย นักเรียนไทย และคนไทยในกรุงปักกิ่ง พร้อมมอบนโยบายให้ทีมประเทศไทย เจรจากับจีนประเด็นรถไฟทางคู่เชื่อมภูมิภาค ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการหารือของนายกรัฐมนตรีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า นายกฯชื่นชมยุทธศาสตร์จีนที่พัฒนาเส้นทาง R3A เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง-กรุงเทพฯ และพัฒนาเส้นทางระบบรางบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมเชื่อมต่อจนไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไทยยินดีที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงจีน ไทยและประเทศในภูมิภาค นายกฯได้ขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวหอมมะลิ และยางพารา นายกฯได้เชิญนายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Great Mekong Subregion- GMS Summit) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ โดยไทยจะผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนา ระเบียงเส้นทางการคมนาคม (Transport Corridors) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งและการป้องกันการลักลอบการค้ามนุษย์ด้วย
แหล่งข่าว: http://www.bangkokpost.com/news/general/442334/prayut-backs-china-sea-rail-link-plans
วิเคราะห์ข้อมูล

การเจรจากับจีนในเรื่องรถไฟรางคู่เชื่อมภูมิภาค น่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น หากนายกและรัฐมนตรีจีนได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ ความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน และการค้าชายแดนจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามประเด็นการประชุมต่อไป

จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอินเตอร์เน็ตโลกครั้งแรก


สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของจีน รายงานว่า การประชุมอินเตอร์เน็ตโลก(World Internet Conference)ครั้งแรกจัดขึ้นที่ตำบลอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียงของจีนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้แทนวงการอินเตอร์เน็ตจากกว่า 100 ประเทศและเขตแคว้นร่วมประชุมเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อให้ทั่วโลกติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น ร่วมแบ่งปันผลสำเร็จจากการพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต การร่วมมือกันเพื่อการบริหารไซเปอร์สเปซโลก ตำบลอูเจิ้นของจีนที่จัดการประชุมครั้งนี้ อยู่ในฐานะสถานที่จัดการประชุมอินเตอร์เน็ตโลกอย่างถาวร ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างกว้างขวาง เทียบเคียงกับดาวอสซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมเศรษฐกิจโลก นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีแก่ที่ประชุม ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุมคือ "เชื่อมโยงและติดต่อกัน ร่วมบริหารและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต" สะท้อนให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญในประเด็นนี้ และเห็นว่าประชาคมโลกจับตาการแก้ปัญหาสำคัญด้านการบริหารและพัฒนาอินเตอร์เน็ตไม่ต่างจากโลกตะวันตก
แหล่งข่าว: China Radio International
http://www.bbc.com/news/world-asia-china-30110297
ที่มาภาพ: http://thai.cri.cn/247/2014/11/20/62s226972.htm


วิเคราะห์ข่าว:
ข่าวเกี่ยวกับการบล็อกอินเตอร์เน็ต การขโมยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในจีนเกิดขึ้นจนมีการกล่าวหาว่าเป็นกระทำที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธและตอบโต้กลับทุกครั้งที่ถูกกล่าวหา ดังนั้นการจัดประชุมอินเตอร์เน็ตโลกครั้งนี้จึงนับว่าเป็นอีกมุมที่แสดงให้โลกรับรู้ว่า จีนไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาของโลกไซเบอร์เลยและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของโลกเช่นกัน มีหลายแนวคิดจากการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ในการประชุมครั้งนี้ เช่น มีความเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตของจีนไม่ได้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อลักษณะของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบล็อกอินเตอร์เน็ตในจีน

จีนเร่งสร้างกลุ่มสื่อระหว่างประเทศแบบใหม่ที่ทันสมัยและหลากหลาย


ที่มาภาพ: ไทม์ แมกกาซีน และ เทเลกราฟ 

ตั้งแต่การประชุมผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ("สมัชชา 18") เป็นต้นมา
นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างประเทศ  นายหวัง เกิงเหนียน ผู้อำนวยการและบรรณาธิการใหญ่สถานีวิทยุซีอาร์ไอได้เขียนบทความหัวข้อ "ให้เสียงจีนกระจายไปทั่วโลก" ลงตีพิมพ์ในวารสาร "ฉิว ซื่อ" ฉบับที่ 21 ระบุให้ถือเอาคำปราศรัยของนายสี จิ้นผิงเป็นหลักชี้นำในการเร่งสร้างกลุ่มสื่อระหว่างประเทศแบบใหม่ที่ทันสมัยและหลากหลาย พยายามให้มีสิทธิ์มีเสียงในเวทีโลกมากขึ้น การที่จีนทำการสื่อสารระหว่างประเทศนั้นจะเป็นการหยั่งรากในวัฒนธรรม อักษร ประวัติศาสตร์และสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันของจีน ซึ่งจะมุ่งประเด็นคุณธรรมและมารยาทที่มีลักษณะร่วม จะใช้นิยามและถ้อยแถลงใหม่ที่ตรงกันทั้งจีนและต่างประเทศ ใช้ภาษาที่มีความมั่นใจในตัวเอง ให้ผู้รับสารรับรู้เข้าใจได้ เกิดความศรัทธาและนำไปเผยแพร่ต่อ
แหล่งข่าว: China Radio International

วิเคราะห์ข่าว:
จากข่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า จีนให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างประเทศ หากมองลึกลงไปจะพบว่าจีนก็ยังคงยึดมั่นในหลักการเดิมคือการเผยแพร่ข้อมูลทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเน้นการส่งสารทางเดียวมากกว่าการรับสาร แต่อย่างไรก็ตามการสื่อสารระหว่างประเทศที่เน้นวัฒนธรรม คุณธรรมและมรรยาท การสื่อสารที่ตรงกันก็เป็นประเด็นถูกหยิบมาพิจารณาซึ่งน่าชื่นชมกับการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ซึ่งดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คงต้องติดตามกันต่อไปในประเด็นนี้ การสื่อสารระหว่างมวลชนกับรัฐ และรัฐกับรัฐจะเป็นอย่างไรต่อไป
                                                           


จีนผ่อนปรนกฎคุมร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ควบคุมร้านเถื่อนผุดขึ้นในชนบท

ที่มาภาพ:  ภาพจาก AP ขณะลูกค้ากำลังใช้บริการร้านเนตคาเฟ่แห่งหนึ่งในปักกิ่ง 
ทางการจีนออกนโยบายผ่อนปรนกฎคุมร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ 
หลังความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตในชนบทเพิ่มสูงขึ้น
หลังจากที่ความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตในชนบทของจีนยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อป้องกันร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เถื่อนจะเกิดขึ้นเกลื่อนเมือง ทางการจีนจึงยอมผ่อนปรนกฎการตั้งร้านอินเตอร์เน็ต ทั้งเรื่องสถานที่ตั้ง และจำนวนคอมพิวเตอร์ในร้าน สำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน รายงานว่า แม้จะมีการผ่อนปรนกฎ แต่ก็ยังมีการกำหนดขนาดของร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ไว้ โดยร้านเนตฯ ที่จะเปิดได้ตามกฎหมายต้องมีขนาดอย่างน้อย 20 ตารางเมตร และเว้นระยะห่างระหว่างคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไว้ อย่างน้อย 2 เมตร เจ้าหน้าที่จากฝ่ายการตลาด สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมจีน กล่าวกับ สถานีวิทยุแห่งชาติจีน ว่า กฎที่ควบคุมร้านเนตอย่างเข้มงวดนั้น ทำให้เกิดร้านเถื่อนผิดกฎหมายมากขึ้น ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ และเมืองขนาดกลาง มีร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ให้บริการกันล้นความต้องการของตลาด แต่ตามเมืองเล็กๆ และเมืองในชนบท ยังคงมีความต้องการร้านประเภทนี้อยู่มาก และในอนาคตเมืองในชนบทก็จะมีร้านเนตคาเฟ่มากขึ้นเพราะมีจำนวนประชากรย้ายภูมิลำเนามากขึ้น การผ่อนปรนกฎฯครั้งนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลจีนที่ออกมาตรการควบคุมร้านเนตคาเฟ่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว(2556) มีการออกกฎให้เฉพาะร้านเนตคาเฟ่ที่เป็นแบรนด์เครือข่ายเท่านั้นที่จะสามารถให้บริการได้ ด้านตัวเลขจากสมาคมการให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตจีน ปี 2555 ระบุว่า แผ่นดินใหญ่มีร้านเนตคาเฟ่อยู่ประมาณ 136,000 แห่ง มีผู้ใช้ทั้งหมดรวม 126 ล้านคน คิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ ในปีดังกล่าว ร้านเนตคาเฟ่ ยังทำรายได้รวมกันได้มากถึง 54,000 ล้านหยวน หรือราวๆ 120,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าตกลงมาจากปี 2554 ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ 
แหล่งข้อมูล: http://www.manager.co.th/ChinaSouth China Morning Post
วิเคราะห์ข่าว:
จากการที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีน ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยขยายการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่นับวันทวีความนิยมมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณฯ ต่างพากันออกโปรโมชั่นให้สอดคล้องกับความต้องการและอุปกรณ์ต่างๆ ของประชาชน การผุดของร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ อย่างมากมายนั้นก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกินความคาดหมาย สิ่งที่ตามมากกับปรากฏการณ์นี้ก็ไม่พ้น ปัญหาในสังคมจีน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและการเมือง การที่สถานการณ์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ทางการจีนเป็นกังวลกับความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดีย และเว็ปไซต์ต่างๆในสังคมจีน โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความไม่สงบและทำลายความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลจีนจึงกวดขันเข้มงวด และควบคุมการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาที่ผ่านมา